มลภาวะเรื่องเล็ก กลายเป็นเรื่อใหญ่ของผิว


มลภาวะกับผิวหนัง บทสัมภาษณ์ โดย พญ.ไพลิน พวงเพชร
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง
กลุ่มงานผื่นแพ้สัมผัสและอาชีวเวชศาสตร์ สถาบันโรคผิวหนัง
รอยโรคที่แสดงถึงความแก่ เป็นความกังวลของผู้คนจำนวนมาก จึงมีผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ผิวหนังบ่อย ๆ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ผิวหนังของตัวเองดูแก่ สังเกตได้จากตลาดเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาริ้วรอยก่อนวัย มีมูลค่าสูงขึ้น มีการศึกษาที่พบว่า มลภาวะทางอากาศ (Air pollution) ที่มีสารมลพิษ (pollutants) เป็นปัจจัยภายนอกอีกสิ่งหนึ่งนอกจากแสงแดดและการสูบบหรี่ ที่ทำให้ผิวหนังแก่ก่อนวัย โดยเฉพาะ อนุภาคละอองฝุ่น หรือ particulate matter (PM) จากการจราจร รวมทั้งก๊าซ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้เกิดจุดด่างดำที่ใบหน้า รวมทั้งกระแดดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดทั้งในคนผิวขาวและชาวเอเชีย รวมทั้งอาจทำให้อาการโรคผิวหนังที่เป็นอยู่เป็นมากขึ้นได้

Environment Protection Agency แบ่งมลพิษเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

1. อนุภาคมวลสาร หรือ สารอนุภาคละอองฝุ่น (particulate matter) จากเขม่า ควันเสีย อุตสาหกรรม ซึ่งมีการแบ่งตามขนาดของอนุภาค เป็น
- PM10 หรือฝุ่นหยาบ มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน
- PM2.5 หรือฝุ่นละเอียด มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ลึกกว่า ลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่า และส่งผลต่อสุขภาพได้มากกว่า ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดและผิวหนัง
ผิวหนังซึ่งสัมผัสโดยตรงกับมลพิษเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดการระคายเคืองง่ายขึ้น ไวต่อการแพ้มากขึ้น อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema), ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis), ผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis) ได้ โดยกลไกคือ ทำให้เกิด reactive oxygen species ทำให้เกิดการสันดาป (oxidation) ของไขมันและโปรตีน ซึ่งสามารถทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าหากมีปัจจัยทั้งจากมลภาวะร่วมกับรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) โดยเฉพาะ UVA ก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังได้มากขึ้น
2. ตะกั่ว จากขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรมและโลหะ
กลุ่มที่เป็นก๊าซ ได้แก่
3. โอโซน (Ozone, O3)
โมเลกุลของโอโซนสามารถทำให้สารต้านอนุมูลอิสระที่ผิวชั้นนอกลดลงได้ (Packer 1990) การศึกษาในหนูพบว่าทำให้เกิดปฏิกิริยา lipid และ protein oxidation เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของรอยเหี่ยวย่นได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดด่างดำต่าง ๆ นอกจากนี้การศึกษาที่พบความสัมพันธ์มาระหว่างปริมาณโอโซนในอากาศและการโรงพยาบาลด้วยผื่นผิวหนังอักเสบ (Xu BJD 2011;165:199) ซึ่งแสดงว่าทำให้โรคผิวหนังที่เป็นอยู่แย่ลงได้
4. ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) จากไอเสียรถยนต์
5. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากอุตสาหกรรม
6. คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) จากควันบุหรี่

มลภาวะส่งผลต่อผิวหนัง ได้ดังนี้ 
1) Sebum oxidation คือเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับน้ำมันเคลือบผิว เกิดอนุมูลอิสระมาทำลายผิว
2) Skin barrier alteration คือเกราะปราการปกป้องผิวตามธรรมชาติ ทำให้ผิวอ่อนแอลง
3) Cells inflammation คือการอักเสบของเซลล์ จากการมี oxidative stress ไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารก่อการอักเสบออกมา
ปัญหาทางผิวหนังที่พบจากมลภาวะ ได้แก่ 
1) Sensitive skin คือผิวบอบบาง ระคายเคืองง่าย
2) Eczema หรือผิวหนังอักเสบ ทั้ง ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) และ ผื่นแพ้สัมผัส (contact dermatitis)
3) สิว และผิวมัน (acne and excess sebum)
มีการศึกษาที่พบว่ามลภาวะทำให้มีการหลั่ง sebum เพิ่มมากขึ้น โดยพบสาร squalene oxides ในสิวอุดตันทั้งแบบหัวเปิดและหัวปิด และพบว่าการเกิดออกซิเดชั่นของสาร squalene นี้เพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่า เมื่อมี UVA ร่วมกับมลภาวะ เทียบกับ UVA เดี่ยว ๆ
4) ผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น
5) ริ้วรอย
6) จุดด่างดำ หมองคล้ำ
การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันผิวหนังจากมลภาวะทางอากาศจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวระคายเคืองง่าย (sensitive skin) หรือมีโรคผิวหนังอยู่แล้ว

ขั้นตอนการลดปริมาณสารมลภาวะบนผิวหนัง 
1. Purify: ล้างทำความสะอาด ขจัดสารอนุภาคละอองฝุ่นที่ตกค้าง ออกจากผิวหนัง โดย1.1 ไม่เป็นการทำความสะอาดที่มากเกินไป ซึ่งจะทำลายเกราะปราการชั้นผิว ล้างหน้าวันละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ ไม่ควรขัดหน้าหรือถูแรง ๆ
1.2 ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว เช่น ผิวแห้งระคายเคืองง่าย หรือผิวมัน
1.3 ควรเป็นสูตรที่ปราศจากสบู่ ไม่มีสารกันเสียพาราเบน มีความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม
2. Reinforce: การบำรุงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ซึ่งจะช่วยป้องกันอนุภาคละอองฝุ่นไม่ให้เกาะติดที่ผิวได้ดีขึ้น และเป็นการเสริม ซ่อมแซมเกราะปราการชั้นผิวที่ช่วยป้องกันผิวจากมลภาวะ ในผู้ที่มีผิวระคายเคืองง่ายควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารก่อระคายเคือง ไม่มีน้ำหอม ลาโนลิน ไม่ก่อให้เกิดสิว (non-comedogenic)
3. Protect: ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดควรจะป้องกันได้ครอบคลุมทั้ง UVA และ UVB มีสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งอนุภาคละอองฝุ่นไม่ให้เกาะติดที่ผิวได้ (anti-adhesion) การใช้ครีมกันแดด นอกจากจะช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ลดการเกิดจุดด่างดำ กระ ฝ้า ยังช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย มีข้อควรระวังในการใช้ ดังนี้
3.1 แม้ว่าผู้ที่อยู่แต่ในร่ม ก็ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำทุกวัน
3.2 ควรทาให้ทั่วทั้งใบหน้าและลำคอ
3.3 ทาในปริมาณที่เพียงพอ คือ 1 กรัม หรือบีบครีมออกมายาว 2 ข้อนิ้วมือ สำหรับใบหน้า
3.4 ทาก่อนออกแดด 30 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หากอยู่กลางแดดนาน
สรุป
มลภาวะในอากาศส่งผลเสียต่อผิวหนังและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะผิวหนังที่เป็นโรคอยู่แล้ว ทำให้ผิวระคายเคือง อักเสบ หรือแพ้ง่ายขึ้น จาก oxidative stress ทำให้มีการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอักเสบ และ เกราะปราการของผิวหนังเสียไป

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม